วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การนับศักราช

การนับเวลาศักราช

ในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มักนิยมใช้การระบุช่วงเวลาเพื่อให้ทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การนับเวลาแบบไทย และการนับเวลาแบบสากล

การนับเวลาแบบไทย
ในประวัติศาสตร์ไทย จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมีการอ้างอิงถึงการนับช่วงเวลาแตกต่างกันไป ตามแต่ละท้องถิ่นมีดังนี้
1.พุทธศักราช(พ.ศ.)
เป็นการนับเวลาทางศักราชในกลุ่มผู้นับถือพระพุทธศาสนา โดยเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ให้นับเป็นพุทธศักราชที่1 ทั้งนี้ประเทศไทยจะนิยมใช้การนับเวลาแบบนี้ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนมาเป็นที่แพร่หลายและระบุใช้กันอย่างเป็นทางการในสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ในปีพุทธศักราช 2455
2. มหาศักราช(ม.ศ.)
การนับศักราชนี้จะพบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย และอยุธยาตอนต้นโดยคิดขึ้นจากกษัตริย์ของอินเดีย (พระเจ้ากนิษกะ) ซึ่งพ่อค้าอินเดียและพวกพราหมณ์นำเข้ามาเผยแพร่ในเวลาติดต่อการค้ากับไทยในสมัยโบราณ จะมีปรากฏในศิลาจาลึกเพื่อบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าปีมหาศักราชที่1 จะตรงกับปีพุทธศักราช 621
3.จุลศักราช ( จ.ศ.)
จัดตั้งขึ้นโดยสังฆราชมนุโสรหัน แห่งอาณาจักรพุกาม เมื่อปีพุทธศักราช 1181โดยไทยรับเอาวิธีการนับเวลานี้มาใช้ในสมัยอยุธยา เพื่อการคำนวณทาง โหราศาสตร์ ใช้บอกเวลาในจารึก ตานาน พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ ต่างๆ จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5 ) จึงเลิกใช้
4.รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ)
การนับเวลาแบบนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ทรงตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2432 โดยกำหนดให้กำหนดให้นับปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทะยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2325 เป็นรัตนโกสินทร์ศกที่1 และให้เริ่มใช้ศักราชนี้ในทางราชการตั้งแต่วันที่1 เมษายน ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) เป็นต้นมา

การนับเวลาแบบสากล
1. คริสต์ศักราช (ค.ศ. )
เป็นการนับเวลาทางศักราชของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นการนับเวลาที่นิยมใช้กันมาทั่วโลก โดยคริสต์ศักราชที่1 เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์ประสูต(ตรงกับ พ.ศ.543)และถือระยะเวลาที่อยู่ก่อนคริสต์ศักราชลงไป จะเรียกว่าสมัยก่อนคริสต์ศักราชหรือก่อนคริสตกาล
2. ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.)
เป็นการนับเวลาทางศักราชของผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยอาศัยปีที่ท่านนบีมูฮัมหมัดได้อพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดินา เป็นปีเริ่มต้นของศักราชอิสลามซึ่งตรงกับวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 622

อย่างไรก็ตาม การนับศักราชแบบต่างๆ ในบางครั้งบางเหตุการณ์ก็ไม่ได้ระบุความชัดเจนไว้ แต่อาจกล่าวการนับเวลาอย่างกว้างๆ ไว้ ซึ่งนิยมเรียกกันใน 3 รูปแบบ ดังนี้
ทศวรรษ (decade) คือ รอบ 10 ปี นับจากศักราชที่ลงท้ายด้วย 1 ไปจนถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 0 เช่น ทศวรรษที่ 1990 ตามคริสต์ศักราช หมายถึง ค.ศ.1991-2000
ศตวรรษ (century) คือ รอบ 100ปี นับจากศักราชที่ลงท้าย 1 ไปจนครบ 100ปีในศักราชที่ลงท้ายด้วย00 เช่น พุทธศตวรรษที่26 คือ พ.ศ.2501-2600
สหัสวรรษ (millennium) คือ รอบ 1000 ปี ศักราชที่ครบแต่ละสหัสวรรษจะลงท้ายด้วย000 เช่น สหัสวรรษที่ 2 นับตามพุทธศักราช คือ พ.ศ. 1001-2000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น